ประวัติและความเป็นมา

ตำบลฟ้าห่วน ประกอบด้วยหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านฟ้าห่วน บ้านโพนเมือง บ้านแข่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้เล่าสืบทอดกันมาเกี่ยวกับประวัติของตำบลฟ้าห่วน ว่าเมื่อครั้งยังไม่ได้ก่อตั้งเป็นตำบลฟ้าห่วน พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2203 ได้มีกลุ่มคนสองกลุ่มอพยพมาตั้งรกรากอาศัยอยู่บริเวณนี้ กลุ่มแรก มาจากเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นำโดยท้าวแสนพันและท้าวแสนหมื่น กลุ่มที่สอง มาจากบ้านกล้วยทา อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งแต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีลำห้วยที่มีจรแข้มาก ตามภาษาพูดของชาวเวียงจันทร์ จรแข้ เรียกตามภาษาพูดว่า แข่ ชาวบ้านผู้ก่อตั้งหมู่บ้านนี้จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามจรแข้ที่มีมากในชุมชนว่า บ้านแข่ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2303 ได้มีกลุ่มคนอีกสามกลุ่มอพยพมาอีก กลุ่มแรก มาจากบ้านเจียงอี จังหวัด ศรีสะเกษ โดยมีผู้นำคือ นายพล ธานี กลุ่มที่สอง มาจากอำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชาวส่วยพูดสำเนียงส่วย กลุ่มที่สาม มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งสามกลุ่มเห็นว่าหมู่บ้านของตนมาจากหลากหลายที่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านพลเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.2500 มีรัฐบาลมาสำรวจสำมะโนประชากร และเรียกชื่อบ้านเพี้ยนจากบ้านพลเมืองเป็นบ้านโพนเมือง จนกลายเป็นชื่ออย่างเป็นทางการว่า บ้านโพนเมือง ในปี พ.ศ. 2330 ก็มีกลุ่มผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มอีก จากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ทำให้ทราบว่าพื้นที่แห่งนี้ได้มีการก่อตั้งมาแล้วกว่า 209 ปีมาแล้ว และอพยพมาจาก 4 กลุ่ม กลุ่มแรก มาจากบ้านโนนหมากเกลือ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มที่สองมาจากบ้านเขื่อง บ้านโนนทุ่ง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มที่สาม มาจากบ้านแข่ ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย และกลุ่มสุดท้าย มาจากบ้านกอกนาแก้ว อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากและเหมาะแก่การตั้ง ถิ่นฐาน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำล้อมรอบ มีปลาชุกชุม และมีปลาหลายชนิด และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามพื้นที่ว่า บ้านปลาห่วน ซึ่งหมายถึง ปลาชุกชุม เพียงแค่ชาวบ้านพายเรือข้ามกุด ก็ทำให้เรือล่มเนื่องจากปลกระโดดข้ามกุดจนเต็มลำเรือ นอกจากนี้ยังมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง คือ บ้านป่าห่วน เพราะป่าในพื้นที่นี้เป็นป่าร่วนซุย และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร มีเผือกมันหลายชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าก็มีหลายชนิด จึงมีผู้เรียกพื้นที่นี้ว่า บ้านป่าห่วน ปัจจุบันชาวบ้านได้เปลี่ยนมาเป็น บ้านฟ้าห่วน เพราะว่าพื้นที่แห่งนี้มีต้นไม้ใหญ่หลายชนิดทำให้เกิดฟ้าผ่าบ่อยครั้ง และผ่าคนและสัตว์ตายไปจำนวนมาก หรือแม้แต่ฝนตกก็จะมีเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าเสียงดัง น่ากลัวเหมือนฟ้าพิโรธ จึงตั้งชื่อบ้านใหม่ว่า บ้านฟ้าห่วน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2433 มีการเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง โดยให้ประชาชนปกครองกันเอง รัฐบาลให้มีการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นครั้งแรก กำนันคนแรก ชื่อ นายพรหมริน อินทร์พิมพ์ ซึ่งเป็นชาวบ้านฟ้าห่วน ทำให้เรียกกำนันว่ากำนันบ้านฟ้าห่วน และเมื่อมีการรวมสามหมู่บ้านตั้งเป็นตำบล จึงตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลฟ้าห่วน

ที่ตั้งและอาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับตำบลค้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศใต้ติดกับอำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดกับตำบลสหธาตุ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก ติดกับตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร

ประชากร

ตำบลฟ้าห่วน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 945 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 5,839 คน แยกเป็น
ชาย 2,872 คน
หญิง 2,967 คน
ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ สามารถจำแนกออกเป็นรายหมู่บ้าน

พื้นที่

ตำบลฟ้าห่วน มีพื้นที่ทั้งหมด 39,998 ไร่
- พื้นที่ทำการเกษตร 20,999 ไร่
- พื้นที่ทำนาประมาณ 14,589 ไร่
- พื้นที่อื่น ๆ 4,410 ไร่
- พื้นที่ถือครองโดยเฉลี่ยประมาณ 19 ไร่/ครัวเรือน

การศึกษา

สถานศึกษาในชุมชนบ้านฟ้าห่วน ประกอบด้วยสถานศึกษา 2 ประเภท ได้แก่โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบล สามารถจำแนกได้ดังต่อไปนี้
1. โรงเรียนบ้านฟ้าห่วน (ขยายโอกาส) ตั้งอยู่หมู่ 1 บ้านฟ้าห่วน
2. โรงเรียนบ้านแข่โพนเมือง (ขยายโอกาส) ตั้งอยู่ระหว่างบ้านโพนเมือง และบ้านแข่
3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 แห่ง ได้แก่ ศพด.ฟ้าห่วน,  ศดว.วัดพลเมือง และ ศพด.แข่

การศาสนา

- วัดฟ้าห่วนใต้
- วัดฟ้าห่วนเหนือ
- วัดพลเมือง
- วัดโพธิ์ชัยศรี
- สำนักสงฆ์บ้านโพนเมือง
- สำนักสงฆ์บ้านแข่
- สถานปฏิบัติธรรมบ้านฟ้าห่วน

นอกจากนี้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของตำบลได้แก่
- ศาลปู่ตาบ้านฟ้าห่วน
- ศาลปู่ตาบ้านโพนเมือง
- ศาลปู่ตาบ้านแข่

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page